สงวน รุจิราภา

พลเรือตรี สงวน รุจิราภา อดีตนายทหารเรือชาวไทย ผู้เป็นหนึ่งในคณะราษฎร ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475พล.ร.ต.สงวน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2440 ที่บ้านบางกระทิง ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีบิดามารดาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา แต่เป็นผู้ที่มีความอุตสาหะในการศึกษาเล่าเรียน จนสามารถจบการศึกษาประกาศนียบัตรแพทยศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2463เข้ารับราชการเป็นแพทย์ทหารเรือในสังกัดกองเสนารักษ์ทหารเรือ (ปัจจุบัน คือ กรมแพทย์ทหารเรือ) กระทรวงทหารเรือในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ขณะนั้น พล.ร.ต.สงวน ยังมียศเพียง เรือเอก (ร.อ.) ขณะที่มีอายุเพียง 33 ปี ได้รับการชักชวนจาก น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือของคณะราษฎร ซึ่งทาง ร.อ.สงวนได้ตอบตกลงทันที โดยถือว่าเป็นทหารเรือคนแรกที่ทาง น.ต.หลวงสินธุ์ฯ ชักชวนอีกด้วย ซึ่งขณะนั้น ร.อ.สงวน ได้เปิดกิจการร้านขายยาเป็นของตนเองชื่อ "รุจิราภา" เป็นห้องแถวไม้สามหลังติดต่อกันที่ถนนตะนาว ใกล้กับสามแพร่ง และถนนข้าวสาร ซึ่งได้ใช้เป็นสถานที่พบปะนัดเจอและประชุมวางแผนกันด้วย บทบาทของ ร.อ.สงวน ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังจากที่ฝ่ายทหารเรือได้ระดมกำลังลำเลียงสรรพาวุธซึ่งได้แก่ กระสุนจำนวน 45,000 นัด และปืนจากคลังอาวุธ รวมถึงกำลังพลทหารด้วยที่ท่าราชวรดิฐได้แล้วนั้น ร.อ.สงวน เป็นผู้ออกไปหารถบรรทุกรับจ้างเพื่อให้ขนสิ่งของเหล่านี้ไปยังจุดนัดหมาย คือ ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเวลา 06.00 น. ร.อ.สงวน ออกเดินตามหารถจนไปถึงท่าเตียน ได้พบกับบุคคลรู้จักโดยบังเอิญ และได้รับคำชี้แนะถึงสถานที่ว่าจ้าง จึงได้ว่าจ้างรถบรรทุกด้วยราคา 15 บาทตามที่คนขับเสนอมา ทำให้ภารกิจลุล่วงสำเร็จไปได้ด้วยดี ร.อ.สงวน ได้รับราชการต่อไปจนกระทั่งได้ยศสูงสุดคือ พลเรือตรี (พล.ร.ต.) และได้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการแพทย์การเรือ ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ถึง 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 นับเป็นเจ้ากรมคนที่ 10พล.ร.ต.สงวน รุจิราภา ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2499 สิริอายุได้ 59 ปี[1][2]